Biennale of Architecture 2014: องค์ประกอบพื้นฐานทางสถาปัตย์

English

Venice Biennale of Architecture เป็นนิทรรศการแสดงงานทางสถาปัตยกรรมระดับสากลที่จัดขึ้นทุก 2 ปี ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี สำหรับหัวข้อหลักของปีนี้คือ  fundamentals และนิทรรศการสำคัญในพาวิลเลียนหลักชื่อว่า elements of architecture (e o a) กำกับโดย Rem Koolhass ว่าด้วยเรื่องขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม อันเป็นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างบริบทแวดล้อมให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่การใช้สอย

ในแต่ละส่วนของงานจะนำเสนอเนื้อหาของหนังสือ elements of architecture by Rem Koolhass อันเป็นงานร่วมวิจัยระหว่างนักเรียน Harvard University Graduate School of Design นำโดย Rem Koolhaas, AMO และ Stephan Trüby โดยสื่อออกมาในรูปแบบในรูปแบบของผนังตัวหนังสือ (Text Wall) ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีหนังสือขนาดขยาย (Pivot Book) ติดผนังที่สามารถพลิกอ่านได้ รวมถึงรูปแบบฉายผนัง (Projection) ซึ่งในนิทรรศการแต่ละส่วน จะแสดงถึงความเป็นมาขององค์ประกอบนั้นๆตั้งแต่ในอดีต ที่ยกมากล่าวถึงมีทั้งหมด 15 องค์ประกอบ ในการจัดแสดงทั้งหมด 18 โซนย่อย ดังต่อไปนี้

01 Ceiling

ออกแบบการจัดแสดงร่วมกับ Manfredo di Robilant

แสดงงานออกแบบฝ้าเพดานจาก Mies van de Rohe และ Typical False Ceiling ที่ปกปิดจิตรกรรมฝ้าเพดาน โดย Galileo Chini

02 Introduction Area

นำเข้าสู่งาน elements of architecture (e o a) ด้วยหนังสือ มัลติมีเดีย และแผนผัง

  • Library คลังหนังสือพร้อมบริเวณนั่งอ่าน
  • บริเวณนั่งชมภาพยนตร์สั้นของ Davide Rapp
  • แผนผังแสดงวิวัฒนาการของแต่ละองค์ประกอบ

03 Window

จัดแสดงคอลเล็กชั่นหน้าต่างแบบอังกฤษของนักสะสม Charles Brooking ตั้งแต่สมัยคริสตศตวรรษที่ 17-19 และส่วนแสดงโรงงานประกอบชิ้นส่วนหน้าต่างร่วมสมัยของ Sobinco

04 Corridor

ออกแบบการจัดแสดงร่วมกับ Stephan Trüby

จัดแสดง “Contemporary Exit Corridor” ทางเดินยาวร่วมกับภาพถ่าย มัลติมีเดีย และซิมูเลชั่น และยังมีส่วนสำหรับนั่งชมการฉายภาพเคลื่อนไหวประสบการณ์ใน Corridor ของ Welbeck Abbey ประเทศอังกฤษ ที่มีความยาวร่วม 10 กิโลเมตร

05 Floor

ออกแบบการจัดแสดงร่วมกับ Keller Easterling

แสดงโครงสร้างพื้นหลากหลายแบบ รวมถึงการทำงานของพื้นสร้างพลังงาน Power Generation Dance Floor ส่วนที่พิงผนังไว้คือตัวอย่างของแผ่นวัสดุพื้นที่มีชื่อเสียงในระดับสากล

06 Balcony

ออกแบบการจัดแสดงร่วมกับ Tom Avermaete

นับเป็นส่วนสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้ ว่ากันว่าหากไม่มี Balcony แล้วนั้น ประวัติศาตร์ของโลกแทบจะพลิกโฉมไปเลยทีเดียว บริเวณนี้จัดแสดง Balcony ไว้ 2 รูปแบบได้แก่ Mashrabiya Balcony และ Mussoliny's Balcony โดยเป็นแบบจำลองที่ผู้ชมสามารถขึ้นไปยืนได้

Mashrabiya Balcony สามารถมองออกไปเชื่อมต่อกับส่วนของ Introduction ในขณะที่ Mussoliny's Balcony เชื่อมต่อกับส่วนของ Floor ด้วยบันไดสีแดงสด

07 Facade

ออกแบบการจัดแสดงร่วมกับ Zaera-Polo

จัดแสดงโครงสร้างของ Facade ที่น่าสนใจจากทั่วโลก ในส่วนของผนังห้องเล่าเรื่องราวเชิงสังคมและวัฒนธรรมอันมีผลต่อวัสดุและการออกแบบของ Facade แต่ละชิ้น

08 Fireplace

แสดงวิวัฒนาการของเตาผิงตั้งแต่ยุคบุกเบิก มาจนถึงเทคโนโลยีล่าสุดจาก MIT "The device ification of the central hearth" ที่โดนเด่นอยู่กลางห้อง บริเวณผนังมีแผนผังแสดงผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมาทดแทนเตาผิง

09 Wall

เรียงลำดับเริ่มจากกำแพงก่ออิฐฉาบปูนที่เราคุ้นเคยจนถึง Partition สมัยใหม่แบบต่างๆ รวมถึงม่านชนิดกันไฟ ส่วนที่ผู้ชมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ Kinetic wall ของ Barkow Leibenger ที่สามารถควบคุมการยืดหดของผิวหน้าด้วยกลไกเครื่องจักร แม้ผิวผนังนี้จะให้ความรู้สึกล้ำสมัย แต่ด้านหลังอันเป็นส่วนกลไกและโครงสร้างกลับเป็นรูปแบบ Minimal ด้วยวัสดุไม้และโลหะ ซึ่งสวยงามและน่าสนใจไม่แพ้กัน

10 Toilet

รูปแบบของสุขภัณฑ์ต่างวัฒนธรรมและยุคสมัย หลากรูปทรงและวัสดุ มีทั้งสุขภัณฑ์แบบโรมันโบราณที่ถูกพบใน The bath of Caracalla ข้ามมาจนถึงสุขภัณฑ์แบบใหม่ล่าสุดของชาวญี่ปุ่นวางเรียงเคียงอยู่ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Wallpaper ที่กำแพงที่แสดงวิวัฒนาการของสุขภัณฑ์ซึ่งอ้างอิงมาจากหนังสือ The Bathroom Book เขียนโดย Alexander Kira

11 Escalator

นับว่าบันไดเลื่อนเป็นนวัตกรรมสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของคนเมืองในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา บริเวณนี้จึงมีมัลติมีเดียที่น่าสนใจคือ Metro Escalator Simulator by Arup และส่วนของบันไดเลื่อนโค้งจาก Holloway Road underground station

12 Elevator

จุดเด่นคือ Elevator Cabs จาก Otis กล่องลิฟต์เดียวที่สามารถเคลื่อนที่ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง สิ่งนี้อาจมีผลต่อสถาปัตยกรรมประเภทอาคารสูงในอนาคต นอกจากนี้ในบริเวณยังมี Odyssy Prototype จากทาง University of Eindhoven, Circular Univator อันเป็นระบบลิฟต์จาก  และแคปซูลที่ใช้อพยพคนงานเหมืองแร่ในประเทศชิลีเมื่อปี 2010

13 Stair

ออกแบบการจัดแสดงร่วมกับ Friedrich-Mielke-Institut für Scalalogie และ Stephan Trüby

เพื่อเป็นเกียรติแก่ Friedrich Mielke ผู้เชี่ยวชาญงานบันไดอันมีผลงานหนังสือมากถึง 25 เล่ม ในส่วนนี้จึงจัดแสดงหนังสือ แบบจำลอง ภาพเขียนแบบและสารคดีโดยละเอียด

14 Ramp

ออกแบบการจัดแสดงร่วมกับ Tim Nugent และ Claude Parent

แนวคิดของพื้นเอียงถูกนำมาใช้ในงาน 1974 Living Room by Claude Parent และเรื่องราวทางลาดสำหรับผู้พิการที่เป็นประเด็นกันมานานกว่า 40 ปี

15 Roof

สิ่งที่น่าสนใจคือมีการนำบทความจีนเก่าแก่ที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นมาขยายขนาดเพื่อจัดแสดง เผยให้เห็นถึงมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ที่มีต่อหลังคาแบน (Flat Roof) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อีกส่วนคืองานแขวนแสดงโครงสร้างหลังคาจีนที่สร้างขึ้นตามตำรา Yingzao Fashi อีกด้านหนึ่งของห้องเป็นตู้กระจกแสดงกระท่อมแบบต่างๆของชาวอินโดนีเซีย และหลังคารูปทรงเรขาคณิตขั้นสูง

16 Door

แบบจำลอง 1:1 ของประตูแบบเรเนสซองต์, อินเดีย และจีน ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางห้อง บริเวณผนังด้านข้างเป็นส่วน History of Door Handle by FSB แสดงมือจับหลากรูปแบบจำนวนมาก

เนื้อหาส่วนที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือการพูดถึงประตูในความหมายของความซับซ้อนในการเข้าถึง จึงมีการยกตัวอย่างปราสาท Hochosterwitz Castle ที่มีประตูเพื่อการรักษาความปลอดภัยมากถึง 14 บาน และเส้นทางของประตูกลไกรักษาความปลอดภัยที่มักใช้ในสนามบิน

17 Book for Architecture

โดย Woulfgang Tilmans

ประตูทางเข้าไปยังห้องฉายมัลติมีเดีย ที่เป็นการรวมภาพถ่ายสรุปประเด็นสำคัญขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน

18 Digital Corridor

ทางเดินสั้นอันเป็นส่วนสุดท้ายอันเป็นการรวบรวมภาพถ่ายและข้อมูลประกอบเชิงดิจิตอลบางส่วน ก่อนจะกลับออกไปสู่ยังทางเข้า 

ในภาพรวม งาน elements of architecture (e o a) นับว่าสามารถสื่อสารถึงข้อควรรู้ขององค์ประกอบพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมได้อย่างเรียบง่ายและชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจโดยเฉพาะนักศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจนสถาปนิกและผู้ประกอบการต่างๆ

 

ชมเว็บไซต์ทางการของ Venice Biennale  คลิกที่นี่

Niche Chathong
A Multi-disclipline Designer and Social network communication strategist who have an eagle-eye for living trends.
Previous
Previous

Lina Bo Bardi: Together